รักชีวิต http://www.rugcheevit.com

บทความ

ธรรมปฏิบัติ

10-05-2563 15:57:21น.

ธรรมปฏิบัติ

หลักพื้นฐานในการฝึกสมาธิ

พื้นฐานที่สำคัญของการฝึกสมาธิคือการเป็นผู้มีศีล  หรือศีลบารมี  ศีลแปลว่าปกติ นั่นคือกระทำทุกอย่างด้วยปกติ  ศีลคือการสังวรณ์ ระวัง สำรวมในกาย วาจา และใจ

ศีลด้วยกาย วาจา ใจ คือการไม่คิดเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นด้วยกาย วาจา ใจ การเบียดเบียน เช่นการทำร้าย ทางกาย ทุบตี  หรือฆ่าให้ตาย เป็นต้น ด้วยวาจาได้แก่การกล่าวร้าย การพูดจากระทบกระกระเทียบ เหน็บแนม พูดให้เจ็บใจ เป็นต้น ด้วยใจได้การคิดมุ่งร้ายต่อผู้อื่น คิดเพื่อทำร้ายด้วยกาย หรือด้วยวาจา เป็นต้น

ศีลลำดับต่อไปคือการไม่เบียดเบียนทรัพย์ผู้อื่น ไม่เบียดเบียนด้วยกาย วาจา และใจ เช่นเดียวกัน ไม่เอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่อนุญาตให้ นอกจากไม่หยิบด้วยแล้ว ยังไม่กระทบกระเทียบด้วยอุบาย เพื่อนำทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง หรือแม้แต่คิด ก็เป็นศีลที่ไม่บริสุทธิ์

ศีลในลำดับต่อมาคือการไม่เพลิดเพลินในผัสสะ โดยเฉพาะผัสสะที่เกิดจากเพศรส ในเบื้องต้นคือการไม่ผิดคู่ครอง ในเบื้องกลางและเบื้องปลายคือการไม่ติดในรสสัมผัสต่าง ๆ ที่เกิดจากกาย หรือวาจา หรือใจ

ไม่มัวเมาในสุรา การพนันต่าง ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเป็นอุบายแห่งความเพลิดเพลิน ขาดสติ ไม่มีเวลาทบทวนพิจารณาความหายนะที่เกิดขึ้นต่อตนเองและต่อผู้อื่น

ศีลสำรวมที่ยิ่งยวดคืออธิศีล ประกอบด้วยศีลที่ผู้ปฏิบัติมีความสำรวมในอินทรีย์ทั้ง 5 ได้แก่ หู ตา ผิวหนัง ลิ้น จมูก ตั้งใจมั่นในการรู้ทันการกระทบของเสียงที่กระทบหู  รูป ภาพต่าง ๆที่กระทบตา รสที่กระทบลิ้น กลิ่นที่กระทบจมูก และสัมผัสต่าง ๆ ที่กระทบผิวหนัง การรู้ทันนี้ขึ้นอยู่กับการฝึกจิตให้รู้ทันทุกขณะจิต การปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้น้อย หรือยาก

การไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น  ไม่เบียดเบียนทรัพย์ผู้อื่น ด้วยกาย วาจา ใจ ย่อมเป็นการทำให้จิตนั้นบริสุทธิ์พร้อมที่จะรองรับคุณธรรมต่าง ๆ ที่จะบังเกิดขึ้นแก่จิตนั้น เป็นพื้นฐาน หรือกำลังสำคัญในการฝึกสมาธิ การฝึกฝนสมาธินั้นจะกระทำได้ก้าวหน้าดีต้องมีศีลเป็นเบื้องต้น และบารมีอื่นอีก 9 อย่างเรียกว่าบารมี 10 ดังนี้

1. ทานบารมี  หมายถึงการให้ ควรฝึกจิตให้เป็นผู้มีใจจดจ่อต่อการสงเคราะห์อยู่เป็นปกติ เป็นการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนประการใด เป็นการให้เพื่อให้ อันเป็นทาน การให้นี้ไม่พิจารณาถึงบุคคลอันเป็นผู้รับ ให้เพื่อผ่อนคลายความทุกข์ของผู้รับ ให้เพื่อสงเคราะห์ให้ผู้รับดำรงอยู่ได้

2. ศีลบารมี ซึ่งได้กล่าวไว้ในบื้องต้นแล้ว

3.สัจจะบารมี ความตั้งใจจริง มั่นคงในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มั่นใจว่าทางนี้เป็นทางที่ถูกไม่หวั่นไหวสั่นคลอนในความเชื่อ

4.วิริยะบารมี มีความเพียรไม่ท้อถอยมั่นคง ตั้งใจฝึกฝน ไม่ว่านั่น นอนยืนเดิน ฝึกฝนตลอดเวลา

5.ขันติบารมี มีความอดทนอดกลั้นต่อาสิ่งยั่วยวน เย้ายวน ไม่หลงใหลไปตามแรงเย้ายวนนั้น อดทนฝึกฝน

6. เมตตาบารมี อยากให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์  สงสารเวทนาเพื่อพบว่าชีวิตอื่นมีความทุกข์ จะทุกข์กาย หรือทุกข์ใจก็ตาม อยากสงเคราะห์ให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้น

7. ปัญญาบารมี มีความรู้ พินิจพิจารณา รู้โทษของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ภพ ชาติ ชรา  การพลัดพรากจากของรัก บุคคลอันเป็นที่รัก  เกิดความรู้ในการเบื่อหน่ายจากสังขาร ดิ้นรนหาทางออกจากองทุกข์

8. อธิษฐานบารมี มีความตั้งใจมั่น ไม่เปลี่ยนแปลง เดินตามรอยพระพุทธองค์ ไม่สงสัยไม่เคลือบแคลง ทางนี้เป็นทางเดียวที่จะพ้นทุกข์ได้

9.เนกขัมมบารมี   มีความตัดใจไม่อาลัยอาวรณ์ต่อการยั่วเย้าของกามฉันทะ ไม่ยินดีในรูปรส กลิ่น  เสียง และสัมผัส ไม่ยินดีในเสียงขับร้องประโคมของดนตรี การขับร้อง เสียงเพลง หรือภาพยนต์เพื่อความบันเทิงต่าง ๆ พอใจในความสงบ ความสุขอันเกิดจากความสงบ

10.อุเบกขาบารมี การวางตนไม่ปรุงแต่งต่อสิ่งเย้ายวน รับรู้ในอายตนะที่กระทบได้ แต่ไม่ปรุงแต่งให้เกิดความเวทนาว่าชอบ หรือไม่ชอบ หรือเฉย ๆ หรือสุข หรือทุกข์ จิตจะเบาบาง ๆ ระงับเวทนาต่าง ๆ มีแต่ความสงบเป็นอารมณ์

การเจริญสมาธิจะได้ผลดี  ศีลจะเกื้อกูลสมาธิ สมาธิจะเกื้อกูลศีล เมื่อเกิดสมาธิย่อมเกิดปัญญาเกื้อกูลต่อกันเป็นภาวะ อธิศีล อธิสมาธิและอธิปัญญา

 

วันนี้พอแค่นี้ก่อน

 1 เมษายน 2552

รินทรา ทิมา